การเลือกรีซีฟระบบ ExpressLRS

รีซีฟ ELRS ทุกตัวทุกยี่ห้อมีพื้นฐานเดียวกันคือใช้เทคโนโลยี LoRa จากชิบ SX1280/SX1281 ของบริษัท Semtech จะแตกต่างกันที่การออกแบบวงจร และชิ้นส่วนประกอบที่ใช้ หรือบางรุ่นจะมีชิบ PA/LNA บูตกำลังรับ/ส่ง แต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร ผมขอแบ่งเป็น 4 ตระกูลหลักๆ ดังนี้ครับ

1.ตระกูลมาตรฐาน

ตระกูลมาตรฐานหรือเรียกได้ว่าเป็นตัวพื้นฐานของรีซีฟ ELRS ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด รีซีฟอื่นๆที่ไม่ได้แจ้งฟังก์ชั่นพิเศษใดๆ ส่วนใหญ่ก็จะจัดอยู่ในตระกูลนี้ เหมาะกับใส่ได้ทุกลำ เคยมีการทดสอบโดยใช้กำลังส่งที่โมดูล 100mW คู่กับตัว EP1 จาก Happymodel โดยใช้เสาแถมเดิมๆ สามารถไปได้เกิน 35 กิโลโดยไม่หลุดและไม่มี Failsafe

ตัวอย่างรุ่นรีซีฟในตระกูลนี้เช่น

  • Happymodel EP1/EP2
  • Betafpv Lite/Micro Rx
  • Radiomaster RP1/RP2
  • CycloneEP1/EP2
  • Jumper AION RX
  • และอื่นๆอีกมากมาย

2.ตระกูล ที่มีชิบ PA/LNA

มารู้จักกับ PA และ LNA กันก่อน

PA (Power Amp) จะช่วยขยายกำลังส่ง Telemetry ที่ส่งกลับไปยังรีโมท เหมาะสำหรับคนที่ใช้ฟังก์ชั่น Telemetry รับค่าต่างๆ ที่รีโมทเช่น GPS หรือการแจ้งเตือนเมื่อสัญญาณหลุด (Telemetry lost) ซึ่งจะรับสัญญาณแจ้งที่รีโมทเหล่านี้ได้ดีและไกลกว่า โดยตัวรีซีฟจะมีกำลังส่ง Telemetry -19dBm ถึง -22dBm หรือประมาณ 100mW ขึ้นอยู่กับสเป็ครุ่นนั้นๆ

LNA (Low Noise Amplifiers) จะช่วยขยายสัญญาณที่รับได้จากรีโมทก่อนถูกส่งต่อไปยังชิบ RF ดังนั้น LNA จะช่วยให้ชิบ RF สามารถรับสัญญาณอ่อนๆ ได้ดีกว่าเดิม หรือสรุปได้คือจะช่วยให้บินได้ไกลและทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางมากขึ้น

หรืออธิบายแบบสั้นๆได้ว่า “PA บูตกำลังส่ง และ LNA บูตกำลังรับ”

รีซีฟตระกูลนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าตระกูลมาตรฐานอยู่หน่อย เนื่องจากต้องมีพื้นที่สำหรับชิบ PA/LNA เพิ่มเข้ามาครับ

ตัวอย่างรุ่นรีซีฟในตระกูลนี้เช่น

  • Happymodel EP1 Dual
  • Betafpv Nano RX
  • Radiomaster RP3
  • Cyclone Nano Rx

3.ตระกูล TCXO

TCXO เป็นตัวอัพเกรดจากตระกูลมาตรฐาน TCXO จะช่วยให้รีซีฟทำงานได้เสถียรกว่าเดิมในสภาวะที่ตัวรีซีฟมีอุณหภูมิสูงขึ้น ลดโอกาศการเกิด Failsafe เพิ่มความมั่นใจของคุณ ทั้งนี้ TCXO จะไม่ได้ช่วยเรื่อง Link Quality หรือทำให้บินไกลขึ้น โดยรวมจะบินได้ไกลเท่ากับตระกูลมาตรฐาน (ยกเว้นตัว Diversity ที่จะรับสัญญาณได้ดีกว่า)

ตัวอย่างรุ่นรีซีฟในตระกูลนี้

  • Happymodel EP1/EP2/EP1 Dual (TCXO)
  • Betafpv SuperD Diversity

4.ตระกูล Diversity

รีซีฟตระกูล Diversity จะใช้ชิป RF คู่ และเสาคู่ เหมือนมีสองรีซีฟในตัวเดียว ช่วยกันรับสัญญาณ แน่นอนว่าสัญญาณจะดีที่สุด เหมาะสำหรับการบินไกล หรือบินระยะปกติก็มีประโยชน์ช่วยลดโอกาสเกิด Failsafe จากมุมอับสัญญาณเพราะมี 2 เสาช่วยกันรับ ซึ่งรีซีฟตระกูลนี้มักจะมีชิบPA/LNA มาให้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นรีซีฟตัวท๊อปของระบบ ExpressLRS แต่ก็ต้องแลกมากับขนาดของรีซีฟที่ใหญ่และใช้พื้นที่ในการติดตั้งเสาเยอะกว่า เหมาะสำหรับลำ 4-5 นิ้วขึ้นไป โดรนและเครื่องบินแบบ Long Range

ตัวอย่างรุ่นรีซีฟในตระกูลนี้

  • Happymodel EP1 Dual TCXO
  • Betafpv SuperD Diversity
  • Radiomaster RP3*
*Radiomaster RP3 เป็นเพียง “Antenna Diversity” เนื่องจากใช้ RF chip ตัวเดียว ไม่ใช่ “Receiver Diversity”

แล้วควรใช้รีซีฟตัวไหนดี??

ลำจิ๋วเช่น 65/75 แนะนำใช้เสาแบบเซรามิคในตัวจะเหมาะกว่า เนื่องจากน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ซึ่งระยะของเสาแบบเซรามิคนี้ก็สามารถบินได้หลายกิโลแล้ว และรีซีฟชนิดนี้ก็ยังเหมาะกับโดรน Racing เนื่องจากไม่มีเสาแยก จึงไม่เกิดความเสียหายครับ

ส่วนลำใหญ่ขึ้นมาและแบบ Freestyle แนะนำแบบเสาแยกภายนอก ซึ่งลำใหญ่เราจะไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการติดตั้งเสา หรือหากคุณบินไกลหรือบินในที่ที่มีสิ่งกีดขวางเยอะใช้เป็นตัวที่มีชิบ PA/LNA ก็จะช่วยให้สัญญาณดีมากขึ้นไปอีกครับ

หรือหากคุณต้องการประสิทธิภาพสูงสุดของระบบ ExpressLRS ก็ควรเลือกเป็นตัว Diversity สองเสา ซึ่งจะมีชิบ PA/LNA ด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับบินไกลและยังช่วยให้บินในที่มีสิ่งกีดขวางได้ดีกว่า เหมาะสำหรับโดรนหรือเครื่องบินแบบ Long Range หรือลำอื่นๆทุกชนิดที่คุณต้องการประสิทธิภาพสูงสุดครับ

สรุป ExpressLRS เป็นลิงค์ที่คุณภาพดีมากๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรีซีฟราคาถูกหรือแพงประสิทธิภาพก็ดีกว่าระบบเก่าเช่น Flysky/Frsky อยู่มากแล้ว หากคุณไม่ซีเรียส ใช้รีซีฟตัวราคาถูกสุดหรือแม้แต่แบบ SPI ที่ติดมากับบอร์ดบางรุ่น ก็สามารถทำงานได้อย่างเสถียรและบินได้ไกลเพียงพอแล้วครับ

แล้ว ELRS แบบ SPI คืออะไร?

โดยปกติแล้วรีซีฟ ELRS แบบแยก จะมีชิบ SX1280/1281 ซึ่งเป็น RF chip ทำงานร่วมชิบหน่วยประมวลผลหลักคือ ESP8285 (ซึ่งเป็นชิบไวไฟในตัวด้วย) แต่ ELRS แบบ SPI นี้จะใช้ชิบหลักของ Flight Controller เช่น F411 เป็นหน่วยประมวลผลหลักแทน โดยเชื่อมต่อ RF chip (SX1280/1281) ผ่านทาง Interface ที่ชื่อว่า SPI ซึ่งจะมีข้อดี/ข้อเสีย ดังนี้

ข้อดี

  • Latency ต่ำกว่า ประมาณ 2-3ms (ref.JB)
  • ไม่ใช้ช่อง UART ทำให้มีช่อง UART เหลือ
  • ประหยัดพื้นที่ และน้ำหนักรวมเบากว่า

ข้อเสีย

  • แฟรช Fw. รีซีฟแยกไม่ได้ ต้องแฟรชทั้ง Betaflight FW.
  • ไม่มีไวไฟ เพราะใช้ชิบประมวลผลร่วมกันกับ FC
  • จะได้อัพเดทช้ากว่า เนื่องจากต้องรอนักพัฒนาอัพเดทโค๊ดลงในเวอร์ชั่นถัดไปของ Betaflight
  • บางฟีเจอร์ของ ELRS เวอร์ชั่นใหม่ไม่สามารถใช้ได้
  • ประสิทธิภาพอาจไม่เท่าแบบรีซีฟแยก

สรุปคือ ELRS แบบ SPI จะเหมาะใช้งานกับลำจิ๋วมากๆ เนื่องจากน้ำหนักเบา ราคาถูก และประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้งานมากแล้วครับ

รีซีฟ ELRS รุ่นต่างๆสามารถซื้อได้แล้วที่ >> 

เขียนโดย Max, Rocket lab

5 March 2023